พิจารณาครั้งที่หนึ่ง
พระธรรมมงคลญาณ (หลวงพ่อวิริยังค์ สิรินฺธโร) เจ้าอาวาสวัดธรรมมงคล พระโขนง กรุงเทพมหานคร ท่านเคยเล่าประวัติของท่านให้บรรดาลูกศิษย์ฟังขณะนั้นข้าพเจ้าได้ไปเรียนหลักสูตรครูสมาธิ รุ่นที่ 13 ว่าเมื่อท่านได้อุปสมบทเป็นพระได้แค่ 1 พรรษา หลวงปู่กงมา จิรปุญโญ ซึ่งเป็นพระอาจารย์องค์แรกของท่านซึ่งเป็นลูกศิษย์หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต บอกท่านว่าได้สอนสิ่งต่าง ๆ ให้หลวงพ่อหมดสิ้นแล้ว ฉะนั้น ท่านหลวงปู่กงมา จะไปฝากศึกษาธรรมะชั้นสูงกับหลวงปู่มั่นซึ่งเป็นอาจารย์ของท่านอีกทีหนึ่ง เพื่อต่อยอดอีกระดับหนึ่งจึงได้พาท่านออกเดินธุดงค์ด้วยเท้าเปล่าในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 (ประมาณ ปี พ.ศ. 2485) โดยเดินธุดงค์จากจังหวัดจันทบุรีผ่านเขมร ดงพญาเย็น มาจนถึงสกลนครที่หลวงปู่มั่นพำนักอยู่ ณ วัดป่าบ้านนามน จ.สกลนคร (ปัจจุบัน เปลี่ยนชื่อเป็น วัดป่านาคนิมิต)
ท่านเล่าว่าวันแรกที่ไปถึงหลวงปู่มั่นยืนรออยู่แล้ว และสั่งให้ไปพักที่กุฎิที่ท่านได้สั่งให้พระเณรจัดไว้ให้ พอตกค่ำประมาณเวลา 2 ทุ่ม หลวงปู่มั่นท่านจะเทศน์ที่กูฎิของท่านบรรดาพระเถระผู้ใหญ่ เช่น หลวงปู่สิงห์หลวงปู่ดูลย์ หลวงปู่แหวน หลวงปู่ขาว หลวงปู่เทศก์ หลวงปู่อ่อน หลวงปู่ฝั้น ฯลฯ ได้ขึ้นมาฟังเทศน์หลวงปู่มั่นฯ วันนั้นท่านก็เหน็ดเหนื่อยจากการเดินทางแต่ท่านก็ได้ขึ้นไปฟังเทศน์ด้วย มาคิดว่าหลวงปู่่มั่นคงเทศน์ไม่นานที่ไหนได้หลวงปู่มั่นฯ เทศน์ตั้งแต่ 2 ทุ่มยันเที่ยงคืนพอดี สมกับที่หลวงพ่ออยากฟังธรรมจนจุใจ พอเทศน์จบท่านก็บอกว่ารูปอื่นกลับได้ แต่วิริยังค์อยู่ก่อน หลังจากนั้นท่านก็บอกให้หลวงพ่อบีบนวด ท่านก็นึกในใจว่าท่านคงให้นวดไม่นานเพราะรู้ว่าท่านเหนื่อยจากการเดินทาง เวลาผ่านไปจนเกือบสว่างหลวงพ่อเลยนึกกลัวว่าผ้าครองจะขาด เพราะล่วงเวลาจะอาบัติ แค่นึกเท่านั้นหลวงปู่มั่นก็ลุกขึ้นทันที เมื่อหลวงพ่อตักน้ำล้างหน้าถวายท่านแล้วท่านก็บอกว่า
'วิริยังค์ เรานิมิตไปนะว่าเราได้รองเท้าคู่ใหม่ แต่รองเท้านี่แปลกประหลาดที่รองเท้าคู่นี้หัวเท้าเท่ากันไม่มีแหว่งตรงกลาง'
หลวงพ่อบอกว่านี่เป็นการบ้านที่หลวงปู่มั่นฯ มอบให้ท่านไปพิจารณาต่อ เมื่อประมาณ ปี พ.ศ.2548 ผมได้ฟังหลวงพ่อเล่าก็นำมาพิจารณาอยู่นานก็คิดไม่ออก วันนั้นข้าพเจ้าได้ทำสมาธิเมื่อจิตนิ่งดีแล้วได้กำหนดจิตถามตัวผู้รู้จึงได้คำตอบกลับมาว่า
'รองเท้า ก็คือ สมาธิ' ได้นำหนังสือประวัติหลวงปู่มั่นฯ มาพิจาณาถึงตอนท่านหลวงปู่มั่นฯนิมิตในแต่ละครั้งท่านบอกว่าจะสะพายดาบ และสวมรองเท้าไปด้วยทุกครั้งที่นิมิต ฉะนั้น สมาธิเป็นบาทฐานของการฝึกจิตนั่นเอง
พิจารณาครั้งที่สอง
วันต่อมาหลังจากข้าพเจ้าได้คำตอบว่า 'สมาธิเปรียบเสมือนรองเท้า' แล้วก็ได้ทำสมาธิอีกได้นึกถึงคำบอกเล่าของหลวงพ่อวิริยังค์ ที่บอกว่าหลวงปู่มั่นฯท่านนิมิตไปว่าได้รองเท้าคู่ใหม่ และเป็นการบ้านให้หลวงพ่อวิริยังค์กลับไปคิดต่อ ข้าพเจ้าก็มาพิจารณาได้ขณะจิตเป็นสมาธิดีแล้วจึงได้ความว่า
รองเท้าคู่ใหม่ คือ
หลักสูตรครูสมาธิ ซึ่งต่อมาภายหลังหลวงพ่อวิริยังค์ได้ปฎิวัติวิธีการสอนสมาธิ ด้วยการสร้างหลักสูตรสมาธิที่เป็นระบบ มีมาตรฐานเดียวกัน และทันสมัยเรียกว่า ระบบสมาธิไฮเทค ขึ้นมา และท่านได้นำความรู้ที่ได้ศึกษาจากหลวงปู่กงมา และหลวงปู่มั่น มาแบบไหนท่านก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงเนื้อหาแต่อย่างใดต่างกันที่วิธีการที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัยเท่านั้น จึงเรียกได้ว่า ต้นกับปลายตรงกัน หรือหัวท้ายเท่ากันนั่นเอง
ทองใหญ่ อ. (ได้ยกธรรมข้อนี้พิจารณาเมื่อครั้งไปดูแลสาขา 4 วัดใหม่เสนานิคม ลาดพร้าว กทม.)